การซื้อบ้านมือสอง
ซื้อบ้านมือสอง
"บ้านมือสอง" เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่ฝันอยากจะมี "บ้าน" เป็นของตัวเอง โดยเฉพาะคนที่มีกำลังซื้อจำกัด แต่ต้องการอยู่ในทำเลที่ดี เพราะ "บ้านมือสอง" กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆบางพื้นที่ลูกค้าไม่มีโอกาสที่จะเห็นบ้าน ขณะที่ราคาบ้านมือสองถูกกว่าบ้านใหม่ เพราะผู้ขายส่วนใหญ่จะถูกกดดันเป็นพิเศษและรุนแรง เช่น กำลังจะถูกฟ้องบังคับจำนองหรือต้องการย้ายที่อยู่ใหม่ แต่ก่อนจะตัดสินใจเลือกจะต้องตรวจสอบอย่างละเอียดและพิถีพิถันสักหน่อย ถ้าเลือกอย่างดี จะได้บ้านคุณภาพดีราคาสมเหตุสมผล แต่ถ้าไม่รอบคอบพอ อาจจะต้องมานั่งน้ำตาตกในภายหลัง ช่องทางมองหาบ้านมือสองที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันมีอยู่ 4 แหล่งใหญ่ๆ ที่จะมีข้อดี ข้อเสีย และข้อควรระวังแตกต่างกันไปคือ
1. การซื้อกับเจ้าของโดยตรง | การซื้อกับเจ้าของโดยตรง ดูจะเป็นวิธีดั้งเดิมและง่ายที่สุดในการเจรจาซื้อขาย โดยเฉพาะการต่อรองราคา ทั้งยังมั่นใจไดว่า ผู้ซื้อจะได้เข้าพักอาศัยโดยไม่ต้อง "อาศัยอำนาจศาล" เพื่อขับไล่เจ้าของเดิม แต่อย่างน้อยผู้ ซื้อควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่า ความเต็มจขายของเจ้าของเดิมจะไม่ได้มาจากปัญหาที่เกิดจากตัวบ้านจนต้องยอมขาย นิติกรรมสัญญา เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังมากที่สุด เพราะทั้งสองฝ่ายจะต้องดำเนินการเรื่องสัญญาเองทั้งหมด ซึ่งในบางกรณีหากไม่มีการตรวจสอบอย่างรอบคอบ ก็อาจจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ในอนาคต โดยอาจขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญจะสะดวกและสบายใจมากขึ้นทั้งยังต้องตกลงค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในแต่ละขั้นตอนอย่างชัดเจนว่า ใครจะเป็นคนจ่ายในส่วนไหน อย่างไรบ้าง และหากผู้ขายต้องการให้ผู้ซื้อออกค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ ผู้ซื้ออาจขอลดราคาบ้านลงได้อีก การซื้อผ่านนายหน้า นอกจากมีบ้านให้เลือกจำนวนมาก แบ่งแยกตามพื้นที่ ราคา ไว้ได้ตรงใจผู้ซื้อ ทำให้ไม่ต้องเสียเวลามากนัก และเชื่อได้ระดับหนึ่งว่า บ้านมือสองที่อยู่ในมือของบริษัทเหล่านี้จะได้รับการคัดสรรและกรองมาระดับหนึ่งแล้ว และ "ตัวแทน" จะเป็นคนดำเนินเรื่องเกือบทุกอย่างให้ ตั้งแต่พาไปดูบ้านที่เลือกไว้ เจรจาราคา จัดการสัญญา เงินกู้ธนาคาร แต่ต้องมีค่านายหน้า ประมาณ 3% ของ ราคาขาย ซึ่งปกติผู้ขายจะเป็นคนจ่าย แต่ในขั้นตอนการทำสัญญาต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า เรากำลังทำสัญญาแลวางเงินมัดจำกับ "เจ้าของบ้านตัวจริง" หรือไม่ เพราะฉะนั้นอย่าลืมขอดูบัตรประชาชนและชื่อหลังโฉนดก่อนจะตกลงปลงใจ 3. สินทรัพย์รอการขายของสถาบันการเงิน | สินทรัพย์รอการขายของสถาบันการเงิน เป็นอีกแหล่งหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะนอกจากจะมีบ้านให้เลือกจำนวนมากและราคาต่ำกว่าราคาตลาดแล้ว การขอสินเชื่อยังจะสะดวกและดอกเบี้ยอาจต่ำกว่าการซื้อบ้านจากแหล่งอื่นๆ เนื่องจากธนาคารเจ้าของทรัพย์สินจะให้สินเชื่อเอง และบางแห่งจะยกเว้นค่าธรรมเนียมหรืออำนวยความสะดวกอื่นๆ แต่ต้องยอมรับว่า บ้านมือสอง ที่อยู่ในมือสถาบันการเงินบางหลังอาจจะชำรุดทรุดโทรมกว่าบ้านในมือของบริษัทนายหน้าหรือบ้านที่เจ้าของขายเอง
เพราะฉะนั้นเพื่อให้แน่ใจว่า นอกจากจะได้ดอกเบี้ยพิเศษแล้วจะไม่มีลูกบ้านคนพิเศษมาอยู่ในชายคาเดียวกัน ก็ต้องตรวจสอบให้มั่นใจว่าไม่มีใครยังอยู่ในบ้านหลังนั้น หรือถ้ายังมีคนอยู่ควรให้ธนาคารจัดการให้เรียบร้อยก่อนที่จะตกมาถึงมือเรา และถ้าให้มั่นใจที่สุดจะต้องให้ธนาคารมีชื่อเป็นเจ้าของโฉนดให้เรียบร้อยเสียก่อน จะได้ไม่ต้องเสียเวลา "ฟ้องขับไล่" ในภายหลัง ประมูลจากกรมบังคับคดี มีขั้นตอนและกระบวนการมาก แต่จะมีราคาเป็นตัวจูงใจ เพราะราคาเริ่มต้นจากการประมูลนี้อาจต่ำกว่าราคาตลาดได้ถึง 50% แต่ก่อนที่จะเข้าร่วมประมูลจะต้องไปดูบ้านและประเมินราคาที่พร้อมจะสู้ไว้ล่วงหน้า จะได้ไม่ถูก "ใคร" กระตุ้นให้สู้ราคาจนเกินกำลังเงินและเกินมูลค่าบ้าน และที่ต้องระวังที่สุด คือ การฟ้องขับไล่ แม้ว่าจะอาศัยอำนาจศาลให้ผู้บุกรุกออกจากบ้านได้ทันที แต่ก็ไม่รู้ว่า จะใช้เวลานานแค่ไหนที่ "ผู้บุกรุก" จะยอมออกจากบ้านไปและอีกเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ คือ "การฟ้องคัดค้านราคา" ซึ่งตามกระบวนการทางกฎหมายจะให้สิทธิลูกหนี้คัดค้านราคาได้ครั้งหนึ่ง
ในกรณีที่เป็นการประมูลของเอกชน ก่อนเข้าร่วมประมูลยังต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า ผู้ประมูลเป็น "เจ้าของทรัพย์" หรือมีสิทธิขายทรัพย์ ฉะนั้น เพื่อให้ได้ของดี ราคาถูก ก็คงต้องยอมเหนื่อยกว่าปกติ
แต่ไม่ว่าจะพบบ้านในดวงใจจากแหล่งใดก็ตาม ก่อนที่จะตัดสินใจเป็นเจ้าของบ้านสักหลัง จะต้องถามตัวเองและครอบครัวก่อนว่า ต้องการจะอยู่ "บริเวณ" ไหน ซึ่งเราสามารถหาบ้านในใจกลางเมืองหรือในบริเวณที่ต้องการได้ในราคาที่ไม่สูงเกินไป เมื่อเลือกบริเวณที่ต้องการได้แล้ว สิ่งต่อไปคือ "ทำเลที่ตั้งและสภาพแวดล้อม" ที่ต้องระวังคือ "แนวเวนคืน" เพราะเจ้าของเดิมอาจยอมขายราคาถูก เพราะไปรู้มาว่า บริเวณนั้นจะถูกเวนคืน เพื่อการป้องกันต้องตรวจสอบไปที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโยธาธิการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย สำนักงานเขตหรือกรมที่ดิน และเพื่อนบ้าน
สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับขั้นตอนการเลือกบ้านมือสอง คือ "สภาพบ้าน" เพราะมีการอยู่อาศัยมาแล้ว ทำให้สภาพบ้านอาจเสื่อมโทรมไปบ้าง โดยเฉพาะบ้านที่ผ่านกระบวนการบังคับคดีที่ใช้เวลานาน แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ "โครงสร้าง" จะยังแข็งแรงอยู่หรือไม่เพราะหากมีการต่อเติมที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการอาจสร้างปัญหาได้ในอนาคต
ดังนั้น หากคุณไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญก็ควรจะหาผู้ที่มีความรู้ด้านนี้ไปช่วยเลือกบ้านด้วย เพื่อตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและใช้ในการประเมินราคาบ้าน และที่สำคัญคือ สาธารณูปโภคพื้นฐานภายในบ้าน ว่าอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานหรือไม่ ต้องซ่อมแซมมากน้อยเพียงใด เพราะนอกจากจะต้องเตรียมเงินสดหรือขอสินเชื่อเพื่อซ่อมแซมแล้ว ยังเป็นสิ่งที่สำคัญมากในขั้นตอน "การต่อรองราคา"
ดังนั้น "ราคาสมเหตุสมผล" น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย เมื่อได้บ้านมือสองที่ "สภาพถูกตา ราคาถูกใจ" แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การทำสัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่งต้องอาศัยผู้ที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมาเป็นที่ปรึกษา แต่หากใช้สัญญามาตรฐานของกรมที่ดิน หรือขอความช่วยเหลือจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ก็น่าจะช่วยแบ่งเบาภาระนี้ได้ส่วนหนึ่ง
แต่ก่อนที่จะลงมือทำสัญญาจะต้องสำรวจกำลังเงินที่จะใช้ "วางมัดจำ" ให้พร้อมเสียก่อน เพราะการซื้อบ้านมือสองจะต้องมีเงินสดจำนวนหนึ่งมาวางมัดจำ หรือจ่ายส่วนจ่างที่ธนาคารไม่ให้สินเชื่อเต็ม 100% ของราคาบ้าน ขณะที่บ้านใหม่ยังสามารถ "ผ่อนดาวน์" ได้ เพราะฉะนั้น จำนวนเงินที่ต้องเตรียมจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการกู้และวงเงินที่ธนาคารให้กู้ส่วนหนึ่งด้วย
ขณะที่การประมูลจากกรมบังคับคดีจะต้องเตรียมเงินสด จำนวน 50,000 บาท (ใน กทม.) และ 40,000 บาท (ในต่างจังหวัด) เพื่อใช้เป็นเงินมัดจำในการประมูลและเมื่อประมูลได้แล้วต้องวางเงินมัดจำ 25% ของราคาทรัพย์ รวมเงินวางประกันในวันนั้น ที่เหลืออีก 75% ชำระภายใน 15 วัน นับแต่วันทำสัญญาซื้อขาย
ส่วนการซื้อผ่านนายหน้าต้องเตรียมเงินวางมัดจำประมาณ 10% ของราคาบ้านในวันทำสัญญา แต่สามารถเจรจาต่อรองได้
ปัญหาต่อไปคือ "เงินกู้" เพราะน้อยคนนักที่จะมีเงินออมมากพอที่จะซื้อบ้านมือสองด้วยเงินสด แต่จะเบาแรงได้หน่อยสำหรับคนที่ซื้อบ้านจากพอร์ตสินทรัพย์รอการขายจากสถาบันการเงิน เพราะบางแห่งจะให้ดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยปกติ โดยเฉพาะในปีแรกๆทั้งยังยกเว้นค่าธรรมเนียม ค่าประเมิน หรืออื่นๆเพื่อจูงใจลูกค้า
ปัจจัยที่ธนาคารนำมาพิจารณาในการขอสินเชื่อจะไม่ต่างจากสินเชื่อบ้านใหม่นัก ไม่ว่าจะเป็น รายได้ ความสามารถในการผ่อน อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาผ่อน ประเภทของหลักทรัพย์ค้ำประกัน คือ บ้านหรือทาวน์-เฮ้าส์ที่ซื้อ และเงินดาวน์หรือเงินวางมัดจำ
จากการทดลองใช้เครื่องคำนวณสินเชื่อที่สถาบันการเงินเปิดให้บริการในเว็บไซด์จะได้ตัวเลขที่แตกต่างกัน เช่น มีรายได้ประจำ 20,000 บาท ที่อัตราดอกเบี้ย 6.75%
เครื่องคำนวณของธนาคารกรุงเทพจะให้กู้เงินได้ประมาณ 1 ล้านบาท และผ่อนชำระเดือนละ 80,000 บาท หรือประมาณ 40% ของรายได้ เป็นเวลา 20 ปี โดยจะซื้อบ้านในราคา 1.5 ล้านบาท แต่จะต้องมีเงินดาวน์ประมาณ 30% ของราคาบ้าน เพื่อแสดงให้เห็นว่าลูกค้ามีความสามารถในการออม
ขณะที่เครื่องคำนวณของธนาคารอาคารสงเคราะห์ ให้ซื้อบ้านในราคา 625,000 บาท และกู้เงินได้ 500,000 บาท ผ่อน 30 ปี เดือนละ 5,200 บาท หากวงเงินที่ได้ไม่พอซื้อ ธนาคารจะแนะนำให้หาคนกู้ร่วมหรือลดขนาดบ้านลง
ส่วนผู้ที่ประมูลซื้อจากกรมบังคับคดีจะสามารถขอสินเชื่อได้จากสถาบันการเงินที่ร่วมมือกับกรมบังคับคดี ได้แก่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนชาต ทิสโก้ ไทยพาณิชย์ กสิกรไทย ทหารไทย กรุงไทย กรุงศรีอยุธยา กรุงเทพ เกียรตินาคิน เอไอไอ และยูโอบีรัตนสิน ที่จะทำให้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น และจะง่ายขั้นถ้าขอกู้กับธนาคารที่บังคับคดี
แต่ไม่ว่าจะกู้จากสถาบันการเงินใดก็ตาม อย่าลืมประเมินศักยภาพในการผ่อนชำระของตัวเองเสียก่อน เพราะต้องผ่อนไปอย่างน้อย 20-30 ปี ไม่เช่นนั้น "บ้านมือสอง" ที่เราซื้อกันได้ จะต้องกลายไปเป็น "บ้านมือสาม" ของคนอื่นไป
และแล้วก็มาถึงขั้นตอนสุดท้าย นั่นคือ การโอนกรรมสิทธิที่ดินหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ต้องเตรียมเอกสาร คำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม (ท.ด.1) 1 ฉบับ หนังสือสัญญาขายที่ดินหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง (ท.ด.13) 3 ฉบับ บันทึกการประเมินราคาประเมินราคาทรัพย์สิน (ท.ด.86) 1 ฉบับ บันทึกถ้อยคำการชำระภาษีอากร (ท.ด.16) 2 ฉบับ และในกรณีที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.40) 2 ฉบับ
และต้องเตรียมเงินสดไปด้วย เพราะในแต่ละขั้นตอนจะมีค่าใช้จ่ายทั้งผู้ซื้อและผู้ขายแล้วแต่การตกลงของทั้งคู่ คือ ค่าธรรมเนียมการโอนในกรณีที่ดินหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอื่นจะจ่าย 2% ของราคาประเมิน นอกจากนี้ยังมีค่าจำนองอีก 0.01% ค่าอากรแสตมป์ 0.5% ของราคาประเมินหรือราคาซื้อขายที่สูงกว่า สำหรับการขายที่ดินหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของบุคคลธรรมดาที่ถือครองเกินกว่า 5 ปี หรือขายห้องชุดที่ถือครองเกินกว่า 5 ปี หรือที่ชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของห้องชุดตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป หรือค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ อัตรา 0.11% ของราคาประเมินหรือราคาซื้อขายที่สูงกว่า สำหรับกรณีการซื้อบ้านจากนิติบุคคล
ค่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับบุคคลธรรมดาจะคิดในอัตราก้าวหน้าจากราคาประเมินของกรมที่ดิน และกรณีนิติบุคคลจะต้องชำระ 1% ของราคาประเมินหรือราคาซื้อขายในราคาที่สูงกว่า แม้ว่า การเป็นเจ้าของ "บ้านมือสอง" สักหลังจะดูยุ่งยาก วุ่นวายและต้องใช้ความรอบคอบเป็นพิเศษ แต่ทันทีที่เรามีบ้านเป็นของตัวเองด้วยน้ำพักน้ำแรงของเราเอง และเป็นบ้านที่จะไม่สร้างปัญหาให้เราในภายหน้า ถึงมันจะไม่ใช่บ้านใหม่เหมือนในฝัน แต่เท่านี้ก็ทำให้หายเหนื่อยนอนหลับอย่างสบายใจใน "บ้าน" ของเรา
แม้ว่า การเป็นเจ้าของ "บ้านมือสอง" สักหลังจะดูยุ่งยาก วุ่นวายและต้องใช้ความรอบคอบเป็นพิเศษ แต่ทันทีที่เรามีบ้านเป็นของตัวเองด้วยน้ำพักน้ำแรงของเราเอง และเป็นบ้านที่จะไม่สร้างปัญหาให้เราในภายหน้า ถึงมันจะไม่ใช่บ้านใหม่เหมือนในฝัน แต่เท่านี้ก็ทำให้หายเหนื่อยนอนหลับอย่างสบายใจใน "บ้าน" ของเรา
|
|
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น