“น้ำมัน” เป็นต้นทุนหลักของพลังงานในประเทศไทย ซึ่งเราจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เป็นสาเหตุสำคัญหลักๆ สาเหตุหนึ่งของภาวะขาดดุลการค้า ถ้าเปรียบประเทศไทยเป็นคนคนหนึ่งในเวทีการค้าโลก เมื่อเราประสบภาวะขาดดุลก็หมายถึงเราค้าขายขาดทุน เงินในกระเป๋าเราลดลง เมื่อเงินในตัวเราลดลงก็แปลว่าเราจนลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เราถูกคนอื่นเอาเงินเราไป ถ้าเราประสบภาวะขาดดุลอย่างต่อเนื่อง ก็จำเป็นต้องไปกู้ยืมเงินคนอื่นมาแก้ปัญหาความเป็นอยู่เฉพาะหน้า แต่พอเขามาทวงเงินเมื่อไหร่แล้วเรามีปัญหาไม่มีเงินคืน เพราะเงินในตัวไม่มี โดยคนอื่นเขาเอาไป ถ้าเราเบี้ยวไม่จ่าย ต่อไปเขาก็เลิกให้ เลิกคบ ไม่ค้าขายด้วย สุดท้ายพอไม่มีใครค้าขายด้วย เราก็ไม่มีเงินใช้ และตกอยู่ในสภาพที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากแค้น ย่ำแย่ คุณภาพชีวิตตกต่ำ ฉะนั้นเพื่อไม่ให้ลูกหลานไทยต้องมีหนี้สินล้นพ้นตัวจากการก่อหนี้จากต่างประเทศ และเพื่อรักษาระดับคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป เราควรต้อง ”ตื่นตัว” เพื่อ ช่วยตัวเอง ช่วยพี่น้อง ช่วยลูกหลานของพวกเรา และที่สำคัญที่สุดก็คือ “ช่วยชาติ” บทความนี้จะกล่าวถึงการอยู่อย่างประหยัดพลังงานและลดค่าใช้จ่ายในบ้าน เป็นแนวทางที่ไม่ยุ่งยาก ทุกคนสามารถช่วยกัน เป็นผลดีต่อประเทศและตัวของเราเอง วิธีประหยัดพลังงาน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการมีและใช้ประโยชน์ที่อยู่อาศัยตลอดจนของใช้ในบ้านมีดังนี้ 1. ออกแบบบ้านและหันทิศทางของบ้านให้เหมาะสม เลือกซื้อบ้านหรือออกแบบบ้านที่มีลักษณะโปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก มีการระบายความร้อนไดดี สำหรับทิศทางของบ้านควรหันหน้าไปในแนวทิศเหนือ-ใต้ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้แสงอาทิตย์เข้าสู่ช่องเปิดของอาคารโดยตรง หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรใช้อุปกรณ์บังแดด เช่น ติดตั้งกันสาดหรือปลูกต้นไม้ช่วยและสร้างบ้านด้วยวัสดุที่เป็นฉนวนกันความร้อนได้ดี ตั้งแต่หลังคาจนถึงกรอบผนัง 2. ปลูกต้นไม้เพื่อให้ร่มเงา การปลูกต้นไม้ให้ร่มเงาเพื่อลดความร้อนจากแสงแดด จะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าเพื่อการปรับอากาศและการถ่ายเทอากาศ ได้ประโยชน์ในด้านการฟอกอากาศและเพิ่มออกซิเจนรอบๆ บ้านทำในคนในบ้านสดชื่น 3. เลือกซื้อแต่อุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงาน เช่น เลือกซื้ออุปกรณ์ที่มีฉลากเบอร์ 5 เป็นต้น 4. ใช้น้ำอย่างประหยัด รู้คุณค่า น้ำประปาที่เราใช้มาจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีจำกัด โดยผ่านกระบวนการกรองและฆ่าเชื้อจนสะอาดและบริโภคได้ ทั้งนี้ต้องอาศัยพลังงานในกระบวนการเหล่านั้น นอกจากนั้นการใช้น้ำอย่างฟุ่มเฟือยยังเป็นผลทำให้ต้องลงทุนก่อสร้างระบบผลิตและระบบส่งน้ำมากขึ้น ดังนั้น การใช้น้ำอย่างประหยัดจึงเป็นการประหยัดพลังงานที่สำคัญที่ไม่ควรมองข้าม - ควรใช้หัวก๊อกน้ำที่มีตัวลดอัตราการไหลของน้ำให้อ่อนลง
- ปิดก๊อกน้ำในระหว่างแปรงฟัน สระผม หรือโกนหนวด
- ใช้ไม้กวาดในการกวาดพื้นแทนการใช้น้ำฉีดเพื่อทำความสะอาด
- ล้างรถด้วยถังน้ำและฟองน้ำ แทนการใช้สายยางฉีดน้ำ
- ใช้น้ำจากการซักล้าง หรือถูพื้น เพื่อรดน้ำต้นไม้ แทนการใช้น้ำประปาโดยตรง
5. การใช้เตาหุ้งต้ม 5.1 เตาถ่าน - ควรเลือกใช้เตาถ่านชนิดที่มีประสิทธิภาพสูง
- เตรียมอาหารสด เครื่องปรุง และอุปกรณ์การทำอาหารให้พร้อมก่อนติดไฟ ไม่ควรติดไฟรอนานเกินไปจะสิ้นเปลืองถ่าน
- เลือกขนาดของหม้อหรือกะทะให้เหมาะสมกับปริมาณอาหารที่จะปรุง รวมทั้งประเภทของอาหารที่จะปรุง
- ควรทุบถ่านให้มีขนาดพอเหมาะคือประมาณชิ้นละ 2-4 ซม.
- ไม่ควรใช้ถ่านมากจนล้นเตา
- อย่าใช้ถ่านที่เปียกชื้น จะติดไฟยากและสิ้นเปลือง
- ขจัดขี้เถ้าในรังผึ้งออกให้หมดก่อนที่จะติดไฟทุกครั้งจะได้เผาไหม้ถ่านได้ดี
5.2 เตาก๊าซ - ควรเลือกใช้ถังก๊าซที่มีเครื่องหมายสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.)
- ควรใช้สายยางหรือสายพลาสติกชนิดยาว และมีความยาว 1-1.5 เมตร
- ตั้งเตาก๊าซให้ห่างจากถังก๊าซประมาณ 1-1.5 เมตร
- ปิดวาล์วที่หัวเตาและหัวปรับความดันเมื่อเลิกใช้งาน
6. การใช้หลอดไฟแสงสว่าง - ปิดไฟเมื่อไม่ใช้งาน
- หมั่นทำความสะอาดหลอดแสงสว่างและโคมไฟ
- ใช้แสงสว่างเท่าที่จำเป็น ในกรณีที่ต้องใช้กับสถานที่ที่ต้องเปิดไฟทิ้งไว้ตลอดคืน ควรใช้หลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์
- บริเวณใดที่เคยใช้หลอดไส้ ควรหันมาเปลี่ยนเป็นหลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์
- ใช้หลอดประหยัดพลังงาน เช่น หลอดผอม (หลอดฟลูออเรสเซนต์) ซึ่งประหยัดพลังงานมากกว่าหลอดไส้ 4-5 เท่า และมีอายุการใช้งานนานกว่าหลอดไส้ 8 เท่า
- ใช้แสงธรรมชาติ แทนการเปิดหลอดแสงสว่าง เช่น ห้องครัว ห้องเก็บของ ห้องน้ำ ทางเดิน เป็นต้น
- ควรทาสีผนังห้องหรือเลือกวัสดุพื้นห้องที่เป็นสีอ่อน เพราะสีอ่อนสามารถเพื่อช่วยสะท้อนแสงสว่างภายในห้องได้ดีกว่าสีเข้ม ทำให้ไม่ต้องใช้หลอดที่กินไฟ(วัตต์)สูงเกินความจำเป็น
7. การใช้ตู้เย็น - เลือกใช้ตู้เย็นที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5
- เลือกใช้แบบที่มีฉนวนกันความร้อนชนิดโฟมฉีด
- ตู้เย็นแบบประตูเดียว จะใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าแบบ 2 ประตู ในขนาดที่เท่ากัน
- ใช้ขนาดให้เหมาะสมกับครอบครัว เช่น ครอบครัวขนาด 3-4 คน ควรใช้ตู้เย็นขนาด 4.5-6 คิว
- ควรตั้งตู้เย็นห่างจากฝาผนังไม่น้อยกว่า 15 ซม. เพื่อให้มีการระบายความร้อนได้ดี ประหยัดไฟแถมเป็นการยืดอายุการใช้งานอีกด้วย
- ตั้งสวิตช์ควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสม เพราะยิ่งตั้งอุณหภูมิให้ต่ำเกินไป จะทำให้คอมเพลสเซอร์จะต้องทำงานหนัก และกินไฟมาก
- อย่าเปิดตู้เย็นบ่อยหรือเปิดไว้นาน ๆ เพราะจะทำให้ตู้เย็นสูงเสียความเย็น คอมเพลสเซอร์ต้องทำงานหนักขึ้น
- ละลายน้ำแข็งสม่ำเสมอ
- หมั่นทำความสะอาดแผงร้อนที่อยู่ด้านหลังของตู้เย็น
8. การใช้เครื่องปรับอากาศ - เลือกขนาดที่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น ห้องที่มีความสูงไม่เกิน 3 เมตร และมีพื้นที่ห้องขนาด 13-15 ต.ร.ม. ควรใช้ขนาด 7,000-9,000 บีทียู/ชั่วโมง ขนาดพื้นที่ 16-17 ต.ร.ม. ควรใช้ขนาด 9,000-11,000 บีทียู/ชั่วโมง เป็นต้น ซึ่งสามารถขอคำแนะนำจากผู้ผลิตหรือผู้มีความรู้(อาทิ เช่น วิศวกรและการไฟฟ้า)
- ใช้เครื่องปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดซึ่งแสดงด้วยหน่วย EER(Energy Efficiency Ratio) คือ อัตราส่วนระหว่างความสามารถในการให้ความเย็นของเครื่อง (บีทียู/ชั่วโมง) ต่อกำลังไฟฟ้า (วัตต์) ซื้อเครื่องที่มีค่า EER สูงซึ่งจะให้ความเย็นมากแต่เสียค่าใช้จ่ายไฟฟ้าน้อยกว่าเครื่องที่มีค่า EER ต่ำ
- ตั้งปุ่มปรับอุณหภูมิให้เหมาะสม อย่าปรับอุณหภูมิให้ต่ำเกินไป โดยปกติควรตั้งที่อุณหภูมิ 250 C
- หมั่นทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศ ไม่ให้มีฝุ่นจับ เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพการทำความเย็นลดลง
- เลือกใช้เครื่องปรับอากาศที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5
- เปิดใช้เมื่อจำเป็น
9. การใช้เครื่องทำน้ำอุ่นสำหรับอาบน้ำ - ควรเลือกชนิดที่มีที่กักเก็บตุนน้ำร้อน เพราะจะใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าแบบน้ำไหลผ่านขดลวดความร้อน
- เลือกขนาดของเครื่องให้เหมาะสมกับครอบครัว เนื่องจากเป็นเครื่องที่ใช้ไฟฟ้ามาก
- ไม่ควรเปิดเครื่องตลอดเวลา โดยเฉพาะในเวลาถูสบู่ในขณะอาบน้ำ
- ปิดวาล์วน้ำและสวิตช์ทันทีเมื่อเลิกใช้งาน
10. การใช้กระติกน้ำร้อนไฟฟ้าหรือกาต้มน้ำไฟฟ้า - ใส่น้ำให้พอเหมาะ และถ้าต้มน้ำต่อเนื่อง ควรมีน้ำบรรจุอยู่เสมอ
- เมื่อเลิกใช้ควรถอดปลั๊กทันที โดยเฉพาะ เมื่อน้ำเดือดและเมื่อไม่มีคนอยู่ เพราะนอกจากจะไม่ประหยัดพลังงานแล้ว ยังอาจทำให้เกิดอันตรายได้
11. การใช้เตาไฟฟ้าและเตาอบ - ควรเตรียมเครื่องประกอบอาหารให้พร้อม รวมทั้งจัดลำดับการปรุงอาหาร
- ไม่ควรเปิดเตาไฟฟ้ารอไว้นานเกินไป
- ใช้ภาชนะประกอบอาหารให้เหมาะสม
- ภาชนะควรมีก้นแบนราบ จะได้สัมผัสความร้อนได้ทั่วถึง
- ภาชนะไม่ควรมีขนาดเล็กกว่าเตา จะสูญเสียพลังงานโดยเปล่าประโยชน์
- ภาชนะควรมีฝาครอบปิดขณะหุง จะช่วยให้อาหารสุกเร็วขึ้น
- ปิดสวิตช์เตาไฟฟ้าก่อนเสร็จสิ้นการทำอาหาร ดึงปลั๊กออกทันทีเมื่อเลิกใช้
- อย่าเปิดเตาอบบ่อย ๆ เพราะการเปิดประตูแต่ละครั้งจะสูญเสียพลังงาน ประมาณร้อยละ 20
12. การใช้เตารีดไฟฟ้า - ควรตั้งอุณหภูมิ (ความร้อน) ให้เหมาะสมกับชนิดผ้าและแบ่งผ้าชนิดเดียวกันไว้ด้วยกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการปรับเปลี่ยนการตั้งอุณหภูมิบ่อยครั้ง
- ควรรวบรวมผ้าไว้รีดคราวละมาก ๆ และพรมน้ำให้หมดทุกตัวก่อนจะรีดผ้า
- อย่าพรมน้ำจนเปียก เพราะจะทำให้ต้องรีดผ้านานกว่าเดิมสิ้นเปลืองไฟฟ้า
- ก่อนรีดผ้าเสร็จควรดึงปลั๊กก่อน เนื่องจากยังมีความร้อนเหลืออยู่พอที่จะรีดต่อได้
- เวลาตากผ้าควรจัดรูปทรงผ้าและดึงให้ตึง เพื่อให้เสื้อผ้ายับน้อยที่สุด จะทำให้รีดง่าย และประหยัดไฟฟ้า
13. การใช้หม้อหุงข้าวไฟฟ้าอัตโนมัติ - เลือกขนาดที่เหมาะสมกับครอบครัว
- ไม่ควรใช้เวลาในการอุ่นข้าวให้นานเกินควร ถอดปลั๊กออกทันทีที่เลิกใช้งาน
14. การใช้โทรทัศน์ - โทรทัศน์สีที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจะทำให้เสียค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
- โทรทัศน์สีที่มีระบบรีโมทคอนโทรลจะใช้ไฟฟ้ามากกว่าระบบทั่วไปในขนาดเดียวกัน เพราะมีวงจรเพิ่มและใช้ไฟฟ้าตลอดเวลาแม้ว่าจะไม่ใช้เครื่อง
- ไม่ควรเสียบปลั๊กทิ้งไว้ ถ้าเสียบปลั๊กทิ้งไว้จะใช้ไฟฟ้าตลอดเวลา
- โทรทัศน์ขาวดำจะใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าโทรทัศน์สี
- ปิดเมื่อไม่มีคนดู
- ควรตั้งเวลาปิดโทรทัศน์โดยอัตโนมัติ สำหรับเครื่องที่มีระบบตั้งเวลาปิด เพราะจะช่วยประหยัดไฟสำหรับผู้ที่มักนอนหลับหน้าโทรทัศน์หรือลืมปิดเครื่อง
15. การใช้ปั๊มน้ำ - ควรเลือกซื้อเครื่องสูบน้ำที่มีถังความดันของเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่พอสมควร ถ้าเล็กเกินไปสวิตช์อัตโนมัติจะทำงานบ่อยขึ้นมอเตอร์ทำงานมากขึ้นเปลืองไฟฟ้า
- ควรสร้างบ่อพักน้ำไว้ระดับพื้นดิน
- หมั่นดูแลท่อน้ำประปา และถังพักน้ำของชักโครก อย่าให้ชำรุดหรือรั่ว เพราะจะทำให้เครื่องสูบน้ำทำงานบ่อย สิ้นเปลืองไฟฟ้า
- ควรบำรุงรักษาเครื่องให้ดีอยู่เสมอ
16. การใช้เครื่องซักผ้า - แช่ผ้าก่อนเข้าเครื่อง ทำให้ง่ายต่อการซักผ้า
- ผ้าที่ซักให้เป็นไปตามพิกัดของเครื่อง อย่าใส่ผ้ามากเกินกำลังของเครื่อง หรือซักจำนวนน้อยเกินไป
- ไม่ควรใช้เครื่องซักผ้าแบบที่มีเครื่องอบแห้งด้วยไฟฟ้าในตัว เพราะสิ้นเปลืองไฟฟ้ามาก ควรตากผ้ากับแสงแดด หรือในที่มีลมโกร
เชื่อว่าถ้าทุกคนช่วยกันนำแนวทางประหยัดพลังงานข้างต้นไปปฏิบัติอย่างจริงจัง ประเทศไทยลดการนำเข้าพลังงานได้มหาศาล เป็นการผ่อนปรนภาวะเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้น ระดับปริมาณเงินหมุนเวียนภายในประเทศจะดีขึ้นและ การค้าขายจะคล่องตัวกว่าเดิม |
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น